พระประวัติ ของ พระไกรสรราช (สิงห์ ไตรยวงค์)

เชื้อสาย

พระไกรสรราช (สิงห์) คนทั่วไปนิยมออกพระนามว่า เจ้าไกรสรราช หรือ ท้าวไกรยราช มีพระนามเดิมว่า ท้าวสิงห์ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองคำอ้อ ซึ่งเป็นเมืองแฝดคู่กันกับเมืองคำเขียว คนลาวทั่วไปนิยมออกนามเมืองรวมกันว่า เมืองคำอ้อคำเขียว ในบรรดาศักดิ์ที่ พระสีหนาม หรือ ท้าวสีหนาม ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่มาจากพระนามเดิมว่า สิงห์ เมืองคำอ้อนี้เดิมเป็นหัวเมืองภูไทขึ้นแก่นครหลวงเวียงจันทน์ พระไกรสรราช (สิงห์) มีเชื้อสายเป็นเผ่าภูไทดำ ในพงศาวดารเมืองแถนกล่าวว่าเผ่าภูไทดำตั้งรกรากดั้งเดิมที่นาน้อยอ้อยหนู เมืองแถนหรือเมืองแถง ปัจจุบันเมืองแถนถูกเปลี่ยนนามเมืองเป็นเมืองเดียนเบียนฟู ซึ่งเป็นภาษาเวียดนาม แปลว่า เมืองชายแดน เมืองเดียนเบียนฟูตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ชาวภูไทดำได้อพยพจากเมืองเดียนเบียนฟูเพื่อหนีภัยความแห้งแล้งกันดารมาตั้งเมืองใหม่ ณ เมืองวังและเมืองคำอ้อ ปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว ชาวภูไทได้อพยพไปตั้งรกรากเป็นบ้านเมืองหลายเมืองในแขวงสุวรรณเขต เช่น เมืองวัง เมืองวังอั่งคำ (วังอ่างคำ) เมืองวังมน เมืองสุพรรณอ่างทอง เมืองคำอ้อ เมืองคำเขียว เมืองเซียงฮ่ม (เชียงร่ม) เมืองผาบัง เมืองภูวานากระแด้ง เมืองพาน เมืองบก เมืองพิน เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองพะลาน (พ้าลั่น) เป็นต้น สันนิษฐานว่า บรรพบุรุษของพระไกรสรราช (สิงห์) คงเป็นเจ้าเมืองคำอ้อสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

อพยพจากเมืองคำอ้อ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) แห่งราชวงศ์จักรี ท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อ ได้เป็นผู้นำพาไพร่พลผู้คนชาวภูไทจากเมืองคำอ้อจำนวน ๘๐๖ คน และชาวภูไทจากเมืองวังจำนวน ๙๕๒ คน รวม ๑,๖๕๘ คน อพยพหนีภัยสงครามจากสยามและความแห้งแล้งจากบ้านเมืองเดิมข้ามแม่น้ำโขงมาขึ้นฝั่งที่ท่าสีดา เมืองมุกดาหาร ต่อมา พระจันทรสุริยวงษ์ (พรหม จันทรสาขา) เจ้าเมืองมุกดาหารองค์ที่ ๓ ได้อนุญาตให้ท้าวสีหนาม (สิงห์) และไพร่พลไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ดงบังอี่ (ดงบักอี่) แขวงเมืองมุกดาหาร อันเป็นพื้นที่ตั้งของอำเภอหนองสูงในปัจจุบัน

ตั้งบ้านคำชะอีและบ้านหนองสูง

เมื่อท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อ ได้พาไพร่พลชาวภูไทอพยพหนีภัยสงครามและการกวาดต้อนของสยามเข้ามาอาศัยอยู่กับพระจันทรสุริยวงษ์ (พรหม จันทรสาขา) เจ้าเมืองมุกดาหารองค์ที่ ๓ โดยอาศัยอยู่ได้ชั่วระยะหนึ่งแล้ว ท้าวสีหนาม (สิงห์) ก็กราบขออนุญาตเจ้าเมืองมุกดาหารอพยพหาแหล่งทำมาหากินและลงหลักปักฐานบ้านเมืองแห่งใหม่ เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงกราบลาเจ้าเมืองมุกดาหารพาไพร่พลภูไททั้งมวลอพยพออกไปทางทิศตะวันตกของเมืองมุกดาหาร โดยมีท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อเป็นผู้นำ ฝ่ายกลุ่มภูไทจากเมืองวังได้ตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่ ณ บริเวณบ้านคำชะอี (คำสระอี) ในปัจจุบัน ฝ่ายภูไทเมืองคำอ้อนั้นได้อพยพลงมาทางทิศใต้อีกประมาณ ๕ กิโลเมตร มาตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน ณ ริมหนองน้ำกลางดงทึบ ซึ่งมีหญ้าชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายต้นผือคนทั่วไปเรียกว่า หญ้าแวง เจริญงอกเงยขึ้นอยู่ในหนองน้ำแห่งนี้จำนวนมาก คนทั้งหลายจึงเรียกหนองน้ำแห่งนี้ว่า หนองแวง อยู่มาไม่นานชาวบ้านได้พบหนองน้ำใหญ่อีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่สูงขึ้นไปจากหนองแวง คือตั้งอยู่บนจอมภูหรือบนยอดภูผากูด หนองแห่งนี้มีน้ำขังอยู่ตลอดปีคนทั่วไปจึงเรียกว่า หนองสูง เนื่องจากเป็นหนองน้ำที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ต่อมาจึงได้เรียกชื่อหนองน้ำบนยอดภูผากูดนี้มาเป็นชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหนองสูง เป็นเหตุให้หนองแวงซึ่งอยู่ติดหมู่บ้านถูกเรียกนามว่า หนองสูง เช่นเดียวกันกับหนองสูงบนยอดภูผากูดสืบมาจนถึงปัจจุบัน[2]

เป็นเจ้าเมืองหนองสูง

พ.ศ. ๒๓๖๙ สมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตอนุวงศ์แห่งนครหลวงเวียงจันทน์ได้ยกทัพลงมาทางอีสาน กษัตริย์สยามรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพไทยไปทำสงครามและจับพระองค์ได้ในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ กองทัพไทยได้กวาดต้อนชาวภูไทจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้ามายังฝั่งขวาของแม่น้ำโขงจำนวนมาก ชาวภูไทเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งบ้านเมืองกระจายกันไปอยู่ทั่วภาคอีสาน เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น[3] ในปี พ.ศ. ๒๓๘๗ พระจันทรสุริยวงษ์ (พรหม จันทรสาขา) เจ้าเมืองมุกดาหาร (เมืองบังมุก) ได้นำท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อ ท้าวราชอาดกรมการเมืองคำอ้อ เพี้ยเมืองแสน ท้าวสุวรรณโคตร และท้าวอุปคุตกรมการชั้นผู้ใหญ่จากเมืองวังในฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเจ้านายเผ่าภูไททั้งหมด เข้าพบเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ที่ออกมาจัดราชการเมืองเขมรอยู่ที่เมืองพนมเป็ญ ครั้นความทราบถึงกษัตริย์สยามรัชกาลที่ ๓ เจ้านายภูไทที่ถูกนำตัวมาทั้งหมดได้ประกอบพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสยาม หลังจากนั้น พระจันทรสุริยวงษ์ (พรหม จันทรสาขา) เจ้าเมืองมุกดาหาร ได้นำตัวท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อ และกรมการเมืองวังเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อ เป็นที่ พระไกรสรราช ยกบ้านหนองสูงเป็น เมืองหนองสูง ให้พระไกรสรราช (สิงห์) อดีตท้าวสีหนาม เป็นเจ้าเมืองหนองสูง ตามนโยบายเกลี้ยกล่อมประชาชนฝั่งซ้ายให้ข้ามมาฝั่งขวาเพื่อลดกำลังทัพนครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีสารตราตั้งเจ้าเมืองปรากฏในเอกสาร ร.๓ จ.ศ.๑๒๗๖ เลขที่ ๕๘ หอสมุดแห่งชาติ มาเมื่อวันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง ฉศก จ.ศ. ๑๒๐๖ ตรงกับวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ ให้เมืองหนองสูงเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา[4] ทำราชการสนองพระเดชพระคุณขึ้นต่อเมืองมุกดาหาร และให้เมืองมุกดาหารแบ่งเขตแดนให้เมืองหนองสูง คือ ด้านทิศตะวันออกตั้งแต่ห้วยทราย ด้านทิศเหนือถึงเขานางมอญ ด้านทิศตะวันตกถึงห้วยบังอี่ ด้านทิศใต้จรดห้วยทราย[5] มีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่อำเภอหนองสูง อำเภอคำชะอี และอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และมีพื้นที่บางส่วนล้ำเข้าไปถึงบ้านขุมขี้ยาง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวบ้านทั่วไปนิยมออกพระนามของพระไกรสรราชโดยลำลองว่า อาญาโหลง ตามสำเนียงของชาวภูไท ซึ่งตามสำเนียงชาวลาวนั้นออกพระนามลำลองว่า อาญาหลวง ส่วนโฮงที่ประทับของพระองค์ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า คุ้มเหนือ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระไกรสรราช (สิงห์ ไตรยวงค์) http://www.amphoe.com/menu.php?mid=1&am=470&pv=42 http://swangkahart.blogspot.com/2007/08/blog-post.... http://suwannatrai.igetweb.com/webboards/963986/%E... http://nongsoong.mukdahancity.com/nongsoong/index.... http://www.mukdahanguide.com/?name=knowledge&file=... http://mukdahanlive.com/?p=1138 http://www.mukdahannews.com/a-nongsoong.htm http://www.nongsoong.com/2016/?page_id=75 http://www.thaiwit.com/index.php?lay=show&ac=artic... http://www.wattraibhumi.com/nongsoong.html